บ้านโมเดิร์นทรงกล่องสีขาว ที่อบอุ่นด้วยงานไม้ และโอบล้อมด้วยแสงธรรมชาติ


ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์ของบ้านสไตล์โมเดิร์นกำลังได้รับความนิยมมากอย่างในปัจจุบัน ซึ่งดีไซน์แต่ละหลังก็มีการเพิ่มองค์ประกอบ หรือตัดทอนบางอย่างแตกต่างกันให้สอดคล้องกับเจ้าของบ้านและทำเล ซึ่งรวมไปถึงบ้านโมเดิร์นสีขาว รูปทรงแปลกตาจาก Advance Home หลังนี้ก็เช่นกัน ที่ถอดแบบมาจากรูปทรงสี่เหลี่ยมทับซ้อนกัน เป็นการดีไซน์ที่เพิ่มการเคลื่อนไหวในรูปทรงกล่องให้มีบุคลิกที่สนุกออกจากกรอบ ไม่จำเจ ทั้งในแง่ของฟังก์ชั่นชายคาที่ยื่นออกมาแบบซ้อนกันยังช่วยกำบังแดดที่เยื้องเข้ามาในแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี

พื้นที่ภายในถูกออกแบบให้มีทั้งส่วนที่เปิดโล่งเชื่อมต่อกับภายนอก และมีส่วนที่จัดสรรไว้สำหรับความเป็นส่วนตัว โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามามีบทบาทในการตกแต่งให้ดูมีชีวิตชีวา ในขอบเขตที่ไม่ทำให้พื้นที่การอยู่อาศัยร้อนจนเกินไป เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบที่อยู่จุดกึ่งกลางระหว่างความเป็นโมเดิร์น และสภาพอากาศเมืองร้อนอย่างสมดุล มีกลิ่นอายของบ้าน Modern tropical อย่างลงตัว

 
 
ในส่วนของชั้น 1 ประกอบด้วย โรงจอดรถด้านหน้า ที่สามารถรองรับจำนวนรถได้ 3 คัน ห้องนอน ห้องรับแขก ห้องครัวไทย มุม pantry ห้องน้ำจำนวน 2 ห้อง รวมไปถึงห้องแม่บ้าน โดยรวมพื้นที่การใช้งานหลักในส่วนของการอยู่อาศัยจะถูกวางให้อยู่ปีกซ้ายของอาคารอย่างเป็นสัดส่วน สำหรับปีกขวาของอาคารถูกดีไซน์ให้โปร่ง และโล่งด้วยการเชื่อมพื้นที่ห้องนั่งเล่น และ Pantry เป็นห้องเดียวกัน ทั้งยังเปิดฝ้าแบบ Double Space ให้ความรู้สึกเป็นอิสระ ผ่านกระจกใสที่รับแสงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เปิดรับวิวสระว่ายน้ำ และบ่อน้ำที่เป็นแนวยาวล้อไปกับตัวบ้าน เพื่อสร้างบรรยากาศที่สบาย เหมาะสำหรับการใช้เป็นจุดพักผ่อนของบ้าน
 
 
สำหรับในส่วนห้องนั่งเล่น แบ่งพื้นที่โดยรอบทั้งสองด้านเพื่อใช้เป็นพื้นที่ Semi-Outdoor อย่างสระว่ายน้ำ บ่อปลา และ เฉลียงที่มีชายคายื่นออกไปรอบด้าน นอกจากใช้เพื่อเติมเต็มสุนทรียภาพให้แก่ห้องนั่งเล่นแล้ว ยังสามารถช่วยลดอุณหภูมิด้วยลมที่พัดผ่านสระน้ำทั้งสองด้านก็จะหอบไอเย็นเข้ามาสู่ตัวบ้านช่วยให้อากาศภายในเย็นสบายขึ้น นอกจากนั้นพื้นที่ส่วนนี้ยังเป็นเหมือนกันชนด่านแรกที่บรรเทาแสงแดดและความร้อนจากภายนอกก่อนเข้ามาสู่ในบ้านได้อีกด้วย
 
 
พร้อมกันนี้ยังให้ความสำคัญกับพื้นที่ด้านข้างของตัวบ้านออกแบบให้มีชายคาความกว้างกว่า 3 เมตร ถือเป็นเฉลียงที่มีความกว้างขวางที่สามารถออกมาใช้งานได้จริง ที่สำคัญเมื่อเปิดกระจกบานเลื่อน พื้นที่ส่วน pantry และเฉลียง รวมไปถึงสระว่ายน้ำก็จะเชื่อมต่อเป็นส่วนเดียวกัน พื้นที่ภายนอกจะเป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่ภายใน ช่วยให้เราสามารถสร้างสรรค์การใช้งานในกิจกรรมอื่นได้หลากหลาย อย่างการจัดปาร์ตี้ริมสระว่ายน้ำ นั่งรับแสงอ่อนๆในช่วงเช้า หรือรับลมช่วงเย็นของวัน หลังจากกลับมาจากการทำงานก็เป็นการผ่อนคลายได้อย่างดีทีเดียว
 
 
ภายในห้องนั่งเล่น เน้นการตกแต่งภายในด้วยสี Earth Tone สบายตาอย่างสีน้ำตาล เทา ขาว บวกกับโคมไฟสี Warm White ที่ติดอยู่ตามจุดต่างๆ ช่วยให้บ้านโมเดิร์นหลังนี้มีบรรยากาศที่ดูอบอุ่นมากขึ้น ผสานความกว้างขวางโอ่อ่าจากการถูกออกแบบให้เป็นโถงกระจกที่มีการเล่นพื้นที่ภายในด้วยการเปิดผนังสูงแบบ Double Space เปิดทัศนีย์ภาพแบบโปร่งสบายตา และติดกระจกใสสูงตั้งแต่ชั้น 1 จรดชั้น 2 คล้ายเป็นห้องกระจก ที่สามารถเปิดเพื่อรับลมธรรมธรรมชาติในวันที่อากาศดี และสามารถปิดเพื่อใช้เครื่องปรับอากาศได้เช่นกัน ด้วยความที่กระจกสามารถรับแสงเข้ามาได้จำนวนมาก จึงใช้ระแนงที่ติดอยู่บนชายคาเป็นตัวช่วยในการกรองความร้อนจากแสงอาทิตย์ไม่ให้เข้ามามากเกินไป ผลพลอยได้นอกจากป้องกันความร้อนคือเกิดมิติของแสงเงา เวลาแสงตกกระทบลงมาที่ไม้ระแนงแล้วทอดตัวลงมาบนผิวอาคาร เป็นการสร้างบรรยากาศให้พื้นที่ส่วนนี้เป็นจุดศูนย์กลางของบ้านที่มีทั้งความผ่อนคลาย และโถงกระจกก็ช่วยระบายอากาศหรือกลิ่นจากห้องครัวได้เป็นอย่างดี
 
 
 
แม้จะอยู่ในบ้านโมเดิร์นแต่ก็ยังไม่ทิ้งการทำครัวไทยๆ เพราะถัดจาก Pantry ที่ใช้เป็นงานครัวเบา ก็จะเจอกับห้องครัวไทยที่สามารถทำครัวแบบหลากหลายได้มากขึ้น โดยอยู่ชิดกันแต่ถูกกั้นผนังไว้อย่างเป็นสัดส่วน เพื่อป้องกันกลิ่นอาหารและกลิ่นเครื่องเทศอย่างผัดกะเพรา ฯลฯ เพื่อไม่ให้รบกวนพื้นที่อื่นๆของบ้าน ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ตามความชอบ หรือความสะดวกในแต่ละวันได้อย่างครอบคลุม
 

ในส่วนของชั้น 2 ประกอบด้วย 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ และมุมห้องพระ มีโถงบันได และทางเดินเป็นส่วนเชื่อมพื้นที่ทั้งสองชั้นเข้าไว้ด้วยกันทั้งด้านความรู้สึกและการใช้งาน โดยพื้นทางเดินของชั้น 2 ทั้งหมดเลือกปูด้วยพื้นไม้ ที่โชว์พื้นผิวของเนื้อไม้ธรรมชาติ อันเรียบง่าย อบอุ่น เบรกความแข็งของโครงสร้างแบบโมเดิร์นได้อย่างสมดุล และจากการเปิดพื้นที่แบบ Double Space ทำให้เมื่อมองลงมาจากทางเดินของชั้น 2 สามารถมองเห็นพื้นที่ห้องนั่งเล่นในบริเวณชั้น 1 ได้อย่างชัดเจน เป็นการเชื่อมต่อกันทางสายตาที่ช่วยให้ความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัวใกล้ชิดกันมากขึ้นแม้จะอยู่คนละมุมของบ้านก็ตาม

 
 

ด้วยความที่โถงบันไดมักเป็นจุดทางผ่านของบ้าน ที่สมาชิกในครอบครัวไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานานเท่าพื้นที่ส่วนอื่น บริเวณชานพักบันไดจึงเพิ่มความน่าสนใจ และชวนมองให้บริเวณนี้ด้วยการเจาะช่องแสงเล็กๆ ดึงแสงเข้ามาตกแต่งบริเวณผนังบันไดให้ดูมีชีวิตและเคลื่อนไหวตามระดับแสงธรรมชาติภายนอกตลอดทั้งวัน นอกจากนั้นช่วยทางสัญจรของสมาชิกในครอบครัวมีความปลอดภัย เดินขึ้นลงได้อย่างสะดวก และยังขจัดความอับชื้นในบริเวณนี้ได้อีกด้วย

โดยเลือกกระจกเทมเปอร์ (Temperate Glass) มาใช้เป็นราวบันได ด้วยที่ว่าวัสดุชนิดนี้เป็นกระจกนิรภัยที่มีจุดแข็งในเรื่องความปลอดภัยแข็งแรง แต่ในขณะเดียวกันด้วยเท็กเจอร์ที่มีลักษณะใสเหมือนแก้ว ก็ยิ่งช่วยสร้างมิติให้พื้นที่บริเวณโถงบันไดดูเบา ลอย และเป็นการสร้างความโปร่งสายตาให้กับพื้นที่ภายในดูน่าอยู่โดยไม่ทิ้งความเป็นโมเดิร์น