Out of the Box ตัวตนในรูปทรงที่แตกต่าง


บนที่ดินแปลงใหญ่ขนาด 200 ตารางวาของคุณพัทธดนย์ และคุณฉันทพัทธ์ ยั่งยืน ทั้งคู่มีไอเดียในการรวมสมาชิกครอบครัวใหญ่ให้สามารถอยู่ใกล้ชิดกันผ่านการสร้างบ้าน 2 หลังในพื้นที่เดียวกัน โดยบ้านหลังใหญ่สำหรับลูก 2 คน และหลังเล็กสำหรับพ่อแม่ เพื่อสร้างพื้นที่ของครอบครัวให้อยู่กันอย่างพร้อมหน้า ไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก

สำหรับโจทย์ของการออกแบบต้องการสร้างความบ้านโมเดิร์นหลังนี้ ออกมาดูโดดเด่นและสะดุดตาแตกต่างจากบ้านโมเดิร์นทรงกล่องทั่วไป ด้วยการออกแบบให้สัดส่วนไม่สมมาตร มีความซับซ้อน น่าค้นหาในรูปทรง สถาปนิกจึงดึงแนวคิด Deconstruction ที่เชื่อว่าเส้นสายของอาคารไม่จำเป็นต้องตั้งฉาก 90 องศาเสมอไป จึงเห็นได้ว่าภายนอกรูปทรงของบ้านจะทิ้งความสมมาตรในบางจุด เป็นงานศิลปะ Free Form ออกจากกรอบที่คุ้นเคย เพื่อให้อิสระแก่งานสถาปัตยกรรมได้ทำหน้าที่สะท้อนตัวตนที่แตกต่างและไม่เหมือนใครของเจ้าของบ้านที่รักการคิดอะไรนอกกรอบได้อย่างชัดเจน โดยได้บริษัทรับสร้างบ้านอย่าง Advance Home มาช่วยก่อสร้างแนวคิดที่แสนท้าทายและเต็มไปด้วยจินตนาการนี้ให้เกิดขึ้นจริง

 
 
โดยที่หน้าตาภายนอกไม่เน้นเปิดช่องแสงมากนักเพื่อให้พื้นที่ภายในดูเป็นส่วนตัว จึงใช้หน้าต่างทรงบานกระทุ้งที่มีความสามารถในการพาแสงเข้ามาในบ้านโดยที่ไม่ทำให้คนภายนอกมองเข้าเห็นภายในบ้านมากจนเกินไป เนื่องจากมันมีลักษณะที่สูง อยู่เหนือระดับสายตาของคนทั่วไป
 
 
เมื่อเดินเข้ามาจะพบกับบริเวณสระว่ายน้ำ ออกแบบพื้นที่แบบ Semi-Outdoor โอบล้อมด้วยพื้นที่ห้องนั่งเล่นทั้งสองด้าน ส่วนอีกสองด้านเป็นผนังกึ่งเปิดโล่ง ที่ลมและแสงแดดสามารถเข้ามาได้ รอบๆของสระว่ายน้ำออกแบบให้เป็นทางเดินได้รอบ สำหรับการเดินเชื่อมถึงกันได้ในทุกส่วน ช่องผนังสี่เหลี่ยมที่ตั้งเยื้องกันเป็นอีกงานออกแบบที่ช่วยเปิดช่องแสง ช่องลมไปมาช่วยให้ลมหมุนเวียนได้สะดวก พร้อมยังช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวจากสายตาของคนภายนอกได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นเวลาทำความสะอาดหรือบำรุงรักษาสระว่ายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเติมน้ำหรือระบายน้ำออกจากสระ ก็สามารถสอดท่อเข้ามาทางช่องว่างที่เว้นไว้ได้เลย
 
 
สระว่ายน้ำออกแบบให้เป็นรูปทรงตัว L เพื่อแบ่งพื้นที่บางส่วนไว้สำหรับเป็นมุมพักผ่อนที่สามารถตั้งชุดโซฟา เก้าอี้สนามสำหรับนั่งพักผ่อนได้ในทุกช่วงเวลา หรือแม้กระทั้งโต๊ะรับประทานอาหารหรือเตาไฟฟ้าบาร์บีคิว สำหรับการจัดปาร์ตี้ริมสระว่ายน้ำ
 
 
ฟังก์ชั่นภายในชั้น 1 ประกอบด้วย ห้องโถง และ Pantry โดยในส่วนนี้ใช้พื้นเป็นกระเบื้องลายหินอ่อนสีขาวเพื่อช่วยดึงความสว่างให้บ้านดูโปร่ง สบายตา และติดบานกระจกเพื่อเชื่อมต่อกับบริเวณสระว่ายน้ำ นอกจากนั้นยังมีห้องครัว ห้องน้ำแขกแบ่งเป็นชาย หญิง ห้องซักรีด และห้องเก็บของขนาดใหญ่อีกหนึ่งห้อง เพื่อเก็บสัมภาระต่างๆให้เป็นระเบียบอยู่เสมอ
 
 
การดีไซน์ภายในห้องรับแขกเน้นความเรียบง่ายคุมโทนสีเทา ขาว และเติมสีดำในส่วนของกรอบประตู หน้าต่าง เพิ่มความเท่ห์ด้วยวัสดุปูนเปลือยบริเวณพื้นและผนัง ผสานกับกระเบื้องลายเลขาคณิตที่สะท้อนคอนเซ็ปต์โมเดิร์นของบ้าน เน้นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเป็นหลักให้อารมณ์โมเดิร์นลอฟท์ที่ยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยน และมีการเน้นบรรยากาศภายใน inner space ที่ออกแบบให้มุมมองของคนที่อยู่ภายในบ้านให้สามารถมองออกมาที่สระว่ายน้ำได้ในทุกมุมห้อง นอกจากนั้นด้วยพื้นที่บ้านเป็นรูปตัว u ทำให้ลมจากสระว่ายน้ำพัดผ่านทุกพื้นที่ภายใน ให้ความรู้สึกโปร่งโล่งสบายในทุกขณะ
 
 
สำหรับบันไดนั้น สถาปนิกได้ดึงเอกลักษณ์สำคัญที่พบเห็นได้บ่อยในบ้านสไตล์โมเดิร์นด้วยการออกแบบให้เป็นบันไดแบบลอย (Floating staircase) มีความมินิมอล ให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง มีการเสริมความปลอดภัยด้วยการใช้โครงเหล็กสีขาวแทนราวบันได ออกแบบให้เป็นเส้นสายสีขาวเหมือนเส้น Grid ที่วาดซ้อนกันอยู่ราวกับงานประติมากรรมที่จัดแสดงอยู่ใจกลางบ้าน
 
 
ในส่วนของห้องนอนทั้ง 3 ห้อง บนชั้นสองออกแบบให้ผนังสูงเพื่อเวลาที่รับกับหลังคา Slope แล้วจะช่วยให้รู้สึกปลอดโปร่ง ไม่อึดอัด และแต่ละห้องจะมีคาร์แร็คเตอร์ของตัวเองที่แตกต่างกันเพื่อสะท้อนถึงความหลายหลายของครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกหลายคน แต่สามารถผสมผสานกันได้อย่างลงตัวในบ้านหลังนี้ โดยห้องแรกทาสีเขียวอ่อน สีโปรดของเจ้าของบ้าน เติมบรรยากาศละมุนให้บ้านโมเดิร์นลอฟท์หลังนี้ดูนุ่มนวลมากขึ้น
 
 
เพื่อใช้ประโยชน์จากการที่ออกแบบที่ผนังที่สูงของชั้นสอง ห้องนอนถัดมา ได้กรุผนังกระจกที่ออกแบบให้แพทเทิร์นกรอบกระจกคล้ายกับลายของฝาประกนบ้านเรือนไทยเพื่อรับแสงธรรมชาติเข้ามาได้เต็มที่ บวกกับมีการใส่เตียงสองชั้นเข้าไปเพื่อจัดสรรพื้นที่ในห้องให้สามารถใช้งานได้มากขึ้น
 
 
 
ห้องนอนสุดท้าย มีเตียงสองชั้นแบบเดียวกันกับห้องก่อนหน้า แต่ความพิเศษของห้องนี้คือจะแบ่งพื้นที่สำหรับเตียงนอนในสัดส่วน 40% ส่วนอีก 60% ใช้สำหรับเป็น Walk in Closet ขนาดใหญ่ โดยสังเกตว่าห้องนี้จะไม่มีหน้าต่างบานใหญ่จนเกินไปเพื่อต้องการควบคุมแสงแดดให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับรักษาสภาพของเสื้อผ้าและกระเป๋าที่จะนำมาจัดวางไว้ในอนาคต
 
 
ในส่วนห้องนั่งเล่นอเนกประสงค์ เป็นพื้นที่โล่งที่สามารถวางโต๊ะพูลหรือชุดโซฟาสำหรับจัดเป็นมุมพักผ่อนอีกมุมของบ้านได้สบายๆ โดยห้องนี้ทาผนังแบบปูนเปลือย มีความดิบเท่ และเปิดผนังด้านหนึ่งให้เชื่อมต่อกับโถง Double Space ทำให้การสัญจรของลมสามารถหมุนเวียนได้ทั่วทั้งบ้าน นอกจากนั้นยังทำให้บรรยากาศในบ้านดูใกล้ชิดกันมากขึ้นแม้บ้านจะมีขนาดใหญ่ ด้วยการที่สมาชิกในครอบครัวสามารถมองเห็นกันและกันแม้จะอยู่กันคนละชั้นก็ตาม
 
 
ด้วยความที่บ้านหลังใหญ่ จึงเน้นการระบายอากาศจากชั้นล่างสู่ชั้นบน โดยพัดเอาความเย็นจากสระว่ายน้ำไปถึงชั้น 2 โดยที่ห้องอเนกประสงค์ชั้น 2 จะเน้นการเปิดช่องหน้าต่างให้ทะลุทั้ง 2 ด้าน และมีผนังระแนงอลูมิเนียมคอมโพสิทใส่เป็นผนังชั้นที่ 2 เพื่อกรองแดด บริเวณ Corridor ชั้นสองที่สามารถเลื่อนเปิด-ปิดได้
 
 
สถัดจากบ้านหลังใหญ่ คือบ้านหลังที่สองขนาดชั้นเดียวของคุณพ่อคุณเม่ โดยบ้านหลังนี้ยังคงรูปแบบของดีไซน์ภายนอกที่เล่นกับรูปทรงเรขาคณิต อย่างวงกลมและสี่เหลี่ยมในบางจุด แต่พื้นที่ภายในออกแบบให้มีความเรียบ โปร่ง จากการที่ไม่ได้กั้นห้องมากเท่าบ้านหลังแรก ซึ่งช่วยให้ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน เหมาะสำหรับผู้สูงอายุในการใช้ชีวิต เรียกได้ว่าแม้ภายนอกจากใช้รูปทรงสมัยใหม่ แต่ภายในก็สามารถรองรับการใช้งานของคนทุกช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม